หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ
Master of Science Program in Biotechnology, Faculty of Science, Maejo University

ประวัติความเป็นมา

             การเรียนการสอนทางด้านชีววิทยาในระดับปริญญาตรีเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2518 จากการเปิดสอนวิชาจุลชีววิทยาพันธุศาสตร์ประยุกต์ และสรีรวิทยาของพืชประยุกต์ เพื่อเป็นวิชาพื้นฐานประยุกต์สำหรับการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีตามหลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี ต่อมาได้มีการรับนักศึกษาตามหลักสูตร 4 ปี ซึ่งจำเป็นที่จะต้องเพิ่มวิชาทางด้านชีววิทยา เช่น ชีววิทยาทั่วไป สัตววิทยา และ พฤกษศาสตร์ เพื่อการเรียนการสอนนักศึกษาปีที่ 1 และ ปี่ที่ 2 ตามหลักสูตร 4 ปี และเมือได้มีการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ ในว้นที่ 23 มีนาคม 2536 ได้มีการจัดตั้งภาควิชาชีววิทยาขึ้นเป็นการภายใน เพื่อรับผิดชอบการเรียนการสอน การวิจัย การบริหาร และ บริการวิชาการ การถ่ายทอดเทคโนโลยีในสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพในระดับปริญญาตรี หลักสูตร์ 4 ปี และในปี พ.ศ. 2547 ภาควิชาชีววิทยาได้เปิดสูตรเทคโนโลยีชีวภาพในระดับปริญญาโท

             หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ฉบับนี้ เป็นหลักสูตรที่ปรับปรุงมาจาก หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ พ.ศ. 2560 เพื่อใช้ในการจัดการศึกษาในสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป

             การจัดทำหลักสูตรนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะให้สอดคล้อง และเป็นไปตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2558 และประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการบริหารเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษา ดำเนินการพัฒนา/ปรับปรุงรายละเอียดของหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ โดยให้มีรายละเอียดของหลักสูตร รายละเอียดของรายวิชา ครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ ตามรายละเอียดของหลักสูตร มคอ.2 ที่ได้กำหนดไว้ รวมทั้งให้สอดคล้องกับปรัชญาการศึกษาและพันธกิจของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ คุณธรรม จริยธรรม มีความรู้ความสามารถทางวิชาการและวิชาชีพ ในสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพด้านต่าง ๆ โดยกระบวนการวิจัย ทั้งนี้เพื่อผลิตบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่ตรงตามความต้องการขององค์กรผู้ใช้บัณฑิต ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมต่อไป

ปรัชญา

ปรัชญาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ

"มุ่งพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ ให้มีศักยภาพในการใช้กระบวนการเทคโนโลยีชีวภาพโดยใช้วิทยาการและเทคนิคที่นำสมัย สามารถวิเคราะห์และเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพในการปฏิบัติงาน รวมถึงสามารถสังเคราะห์และประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากการค้นคว้าวิจัยทางเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อสามารถนำไปพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศชาติสู่ระดับสากล"

วิสัยทัศน์

             การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจำเป็นต้องอาศัยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาความสามารถทางการวิจัยในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มอำนาจในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชา เทคโนโลยีชีวภาพจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งด้านอาหารและ สุขภาพ การเกษตร อุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม โดยขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “Value–Based Economy” หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยมีฐานคิดหลัก คือ เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ซึ่งแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (S-curve) และ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) ดังนั้นจึงควรมีการเปลี่ยนวิธีการทำที่มีลักษณะสำคัญ คือ เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมในปัจจุบันไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ เพื่อให้เกิดผลจริงต้องมีการพัฒนาวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ การวิจัยและพัฒนา โดยกลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาประเทศไทยภายใต้โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ประกอบกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่จะมุ่งเน้นทางด้าน BCG model ซึ่งเป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)  และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม

             ดังนั้น ในการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2565) จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่พร้อมก้าวสู่สถานการณ์โลกในปัจจุบัน สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพจึงได้จัดหลักสูตรโดย เน้นการฝึกวิจัยและปฏิบัติเพื่อให้เกิดทักษะ การกระตุ้นให้เกิดการคิด วิเคราะห์ การประยุกต์วิทยาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและทันสมัยต่างๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้เชิงลึก ร่วมกับความคิดสร้างสรรค์และการเสริมความรู้เกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อผลิตให้มหาบัณฑิตที่พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่จะมุ่งเน้นทางด้าน BCG model ต่อไป

             เป้าหมายของการพัฒนาหลักสูตรเน้นการตอบสนองการพัฒนาและความต้องการของประเทศในสภาวะที่มีการแข่งขันสูงและการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาการทางเทคโนโลยีชีวภาพอย่างรวดเร็วตลอดจนข้อจำกัดการกีดกันทางการค้าที่สูงขึ้น  รวมทั้งจากวิสัยทัศน์เชิงนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่มุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อ ให้สามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามในศตวรรษที่ 21 นี้ รวมทั้งเพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้าม ขีดจำกัดของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง จึงได้กำหนดทิศทางการนำประเทศไทยเข้าสู่ยุคใหม่ โดยใช้รหัสว่าประเทศไทย 4.0” โดยกลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาประเทศไทยในครั้งนี้ ดังนั้นหลักสูตรฯ จึงต้องการผลิตบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีชีวภาพเน้นทางด้านการเกษตร ทั้งในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ การประยุกต์ใช้ความรู้และองค์ความรู้ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาในสังคม สภาพแวดล้อม ตลอดจนการผลักดันให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจของชาติและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพ ทั้งนี้บุคลากรดังกล่าวจะต้องสามารถปฏิบัติตนอย่างมืออาชีพและอยู่ภายใต้คุณธรรมและจริยธรรมของวิชาชีพ

พันธกิจ

  1. เพื่อผลิตบัณฑิตที่สามารถสังเคราะห์และประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากการค้นคว้าวิจัยทางเทคโนโลยีชีวภาพ มาสร้างสรรค์ให้เกิดผลงานที่มีประโยชน์ต่อภาคการเกษตรของประเทศ และสามารถพัฒนางานของตนสู่ระดับสากลได้
  2. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพด้านต่าง ๆ โดยกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ
  3. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ
  4. เพื่อผลิตบัณฑิตที่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง และแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ในปัจจุบัน