หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ
Master of Science Program in Biotechnology, Faculty of Science, Maejo University

Activity

หลักสูตรวท.ม.เทคโนโลยีชีวภาพจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ
วันพุธและพฤหัสบดีที่ 26-27 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ยกระดับความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมการสกัดดีเอ็นเอและวิเคราะห์คุณภาพของดีเอ็นเอ ให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ห้องเรียน 3/9 และ 3/10 และกิจกรรมเพิ่มพูนทักษะทางชีวเคมีในชีวิตประจำวัน ให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ห้องเรียน 2/9 และ 2/10 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยคณาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุนวิชาการ และนักศึกษาในหลักสูตร สามารถใช้กิจกรรมในโครงการนี้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ทักษะการปฏิบัติงานทางเทคโนโลยีชีวภาพ ที่ไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาของหลักสูตรบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร (PLOs) โดยเฉพาะ PLO2 - มีทักษะการปฏิบัติงานขั้นสูงในสายงานทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพและสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง และ PLO5 - สามารถวิเคราะห์และใช้ทักษะในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน/ขั้นสูงในการปฏิบัติงานได้ ยังช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการได้ดำเนินการตามปรัชญาการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นในผู้เรียนมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีทักษะการสื่อสาร และสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน
29 มิถุนายน 2567
หลักสูตรวท.ม.เทคโนโลยีชีวภาพจัดสอบสัมภาษณ์เพื่อการเข้าศึกษาต่อในภาคการศึกษา 1-2567
ในวันที่ 12 มิถุนายน 2567 หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีชีวภาพได้จัดให้มีการสอบสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกผู้สมัครเข้าศึกษาต่อในระดับมหาบัณฑิต ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2567 โดยมีผู้ทำการสอบคัดเลือก 2 รายได้แก่ นางสาวพิณญาพร วงค์สามาร และนางสาวเวียงพิงค์ ขัดสีแสง ทั้งนี้ ได้มีการทดสอบสมรรถนะการใช้ภาษาอังกฤษและการสรุปความจากวารสารทางวิชาการเพิ่มเติม เพื่อทางหลักสูตรฯจะทำการออกแบบกิจกรรมเสริมหลักสูตรและกิจกรรมนอกหลักสูตรให้แก่นักศึกษาต่อไป
12 มิถุนายน 2567
กิจกรรมเสริมหลักสูตร - สร้างเสริมสมรรถนะในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีชีวภาพในการปฏิบัติงาน
ในวันอังคารที่ 4 มิถุนายน 2567 หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ได้จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรโดยมีอาจารย์ ดร.วันฉัตร ศิริสาร อาจารย์สังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อดื้อยา (severe microbial resistance) ในหัวข้อยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในปัจจุบัน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้เทคนิคทางจุลชีววิทยาและอณูชีววิทยาในงานวิจัย ตลอดจนแนะนำการนำเสนอผลงานเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีชีวภาพในการปฏิบัติงาน (PLO3) และการสังเคราะห์/ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ได้อย่างมีจรรยาบรรณทางวิชาการ (PLO4) ต่อไปนอกจากนี้ผู้เรียนยังได้มีโอกาสในการสนทนาทางวิขาการและแลกเปลี่ยนมุมมองในการแก้ปัญหางานวิจัย (วิทยานิพนธ์) ของตนเองกับวิทยากร เพื่อได้รับมุมมองในการทำงานเพิ่มเติมจากที่ปรึกษา/กลุ่มวิจัยของตนเอง และเพื่อการนำไปพัฒนาตนเองต่อไป
7 มิถุนายน 2567
งานสัมมนาประจำภาคการศึกษาที่ 2/2566
ในวันที่ 8 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา หลักสูตรวิทยาศาตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพได้จัดงานสัมมนาประจำภาคการศึกษาที่ 2/2566 โดยมี Dr. Kuanqing Liu จาก Tianjin Institute of Industrial Biotechnology (TIB), Chinese Academy of Sciences นำเสนองานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพในสถาบัน TIB เพื่อให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เข้าฟัง จากนั้นได้มีการนำเสนองานของผู้เรียนในรายวิชา 20302001 สัมมนา 1 รายวิชา 20302003 สัมมนา 3 และ รายวิชา 20302004 สัมมนา 4 รวมทั้งสิ้น 6 คน โดยมีอาจารย์ประจำหลักสูตร ศิษย์เก่า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภายนอก (external stakeholders) ให้คำแนะนำและทำการประเมินการบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร (Program Learning Outcomes; PLOs) ของผู้เรียนเป็นรายคน นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่ดีในการหารือและรับข้อมูลเพื่อการปรับปรุงหลักสูตรแบบ real-time
12 พฤษภาคม 2567
กิจกรรมเสริมหลักสูตร - การอบรมเชิงปฏิบัติการในการใช้กล้องจุลทรรศน์
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ทางหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีชีวภาพได้เชิญชวนนักศึกษาและคณาจารย์ผู้สนใจเข้าร่วมอบรมการใช้กล้องจุลทรรศน์ในห้องปฏิบัติเทคโนโลยีชีวภาพทางด้านอณูชีววิทยา วิทยากรได้ให้ความรู้แก่ผู้อบรม ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้อบรมได้ปฏิบัติการจริง โดยการใช้กล้องเพื่อถ่ายภาพจากตัวอย่างทั้งเซลล์แบคทีเรีย เซลล์ไลน์จากสัตว์ และเซลล์พืช ทำให้ผู้เข้าอบรมได้ประสบการณ์และพื้นฐานเบื้องต้นในการนำไปปฏิบัติงานในการเรียนการสอน และการวิจัยต่อไป
10 พฤศจิกายน 2566